ลวดลายและกรรมวิธีการทอ




จก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าบนเส้นพุ่ง ด้วยวิธีการสอดด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ โดยใช้ขนแม่นหรือเหล็กแหลมช่วยในการจกหรือควักเส้นด้ายขึ้นมาบนเนื้อผ้าที่ทออยู่ การจกเป็นการสร้างลวดลายที่สามารถใช้ฝ้ายได้หลากหลายสีในลวดลายต่างๆ ที่ทำขึ้น 
ผ้าแม่แจ่มจะใช้เทคนิคนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยคว่ำหน้าผ้าลงกับกี่ที่ทอ 
ซึ่งทำให้สามารถเก็บเงื่อนหรือปมฝ้ายได้เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่หลุดง่าย 
รวมทั้งลวดลายที่เกิดขึ้นด้านหลังของลายซึ่งอยู่ด้านบนของกี่นี้มีความสวยงามไม่แพ้ด้านหน้าซิ่นแม่แจ่มจึงสามารถนุ่งได้ 2 ด้าน ดังจะเห็นคนเฒ่าคนแก่มักนิยมนุ่งซิ่นด้านในออกนอกเสมอ 
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เก่าเร็วเกินไปด้วย
ผ้าจกนับเป็นศิลปะการสร้างลวดลายบนผ้าที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง ซึ่งผู้ทอสามารถสร้างจินตนาการและแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้มากที่สุดเช่นเดียวกับการวาดภาพและแต้มสีลงบนผืนผ้า ผลงานที่เกิดขึ้นจึงสามารถพัฒนาการไปได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
ผ้าจกแม่แจ่มมีลักษณะเด่นในการสร้างผลงานของช่างผู้ทอ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งลายดั้งเดิม ซึ่งสามารถจัดแบ่งผ้าจกตามลักษณะลวดลายได้ดังนี้ 
1. ลวดลายอุดมคติ เป็นลวดลายที่สะท้อนความเชื่อในศาสนาออกมาเป็นรูปสัญลักษณ์อันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา พบลวดลายลักษณะนี้ในซิ่นตีนจกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ รูปโคม ขัน น้ำต้น นาค หงส์สะเปา ที่ประกอบขึ้นเป็นซิ่นตีนจก นอกจากนี้ยังปรากฏ รูปขันดอก รูปหงส์ในผ้าป้าด (ผ้าพาดบ่า) หรือลายนาคในหน้าหมอน เป็นต้น
2. ลวดลายคนและสัตว์ ส่วนใหญ่พบในผ้าหลบสะลี (ผ้าปูที่นอน) ผ้าป้าด ได้แก่ รูปม้า ช้าง ไก่ ลา ลายเขี้ยวหมา ลายงูเตวตาง ลายฟันปลา และลายคน ในหน้า หมอนได้แก่ รูปปู กบ เป็นต้น
3. ลวดลายพรรณพฤกษา พบในหน้าหมอนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ลายดอกจันทร์ กุดผักแว่น เป็นต้น
4. ลวดลายเปรียบเทียบสิ่งของใกล้ตัว เช่น ลายกุดตาแสง กุดพ่อเฮือนเมา กุดกระแจ กุดขอเบ็ด กุดสามเสา พบลวดลายเหล่านี้ในหน้าหมอน

ซิ่นตีนจกแม่แจ่มเ ป็นศิลปหัตถกรรมที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษมา แต่โบราณกาลอันเกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างลวดลายขึ้นบนผืนผ้าด้วยการจก คือการสอดหรือควักเส้นฝ้ายสีต่างๆ ที่พุ่งสลับกันเป็นช่วงๆ เพื่อให้เกิดเป็นรูปและลวดลายต่างๆ ขึ้นมาโดยใช้ขนเม่น โลหะ หรือไม้ปลายแหลมเป็นเครื่องมือ 
ซิ่นตีนจกไหมในเขตแม่แจ่ม เท่าที่พบในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่มีอายุอยู่ใน ราว 200 ปี จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ และผู้รู้ในเขตบ้านยางหลวงพบว่าซิ่นในสมัยก่อนจะทำด้วยผ้าฝ้ายปั่นมือหรือ เส้นไหมและย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยมีสีหลักๆ เช่น สีแดง ย้อมด้วยรากสะลัก สีดำหรือ สีน้ำเงินเข้มจะย้อมด้วยหม้อฮ่อม สีเหลืองย้อมด้วยขมิ้น เป็นต้น ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงของวัสดุที่ใช้ทอและจก ทำให้มีลักษณะและสีสันของซิ่นตีนจกแม่แจ่มที่แตกต่างไปจากเดิมบ้างตามวัสดุที่ใช้ กล่าวคือ เมื่อมีการใช้ฝ้ายจากโรงงาน มีลักษณะเป็นฝ้ายเนื้อละเอียดมีสีสันที่หลากหลาย ชาวบ้านเรียก “ฝ้ายพ่าย” สีสันของซิ่นตีนจกแม่แจ่มในยุคนี้ จึงมีสีสันสดใสมากขึ้น มีการใช้สีมากขึ้นในการจก และนิยมจกจนเต็มลายไม่เว้นช่องว่าง





องค์ประกอบของซิ่นตีนจกแม่แจ่ม แบ่งออกเป็นส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนเอวซิ่น ส่วนตัวซิ่น และส่วนที่เป็นตีนจกหรือตีนซิ่น เมื่อนำทั้ง 3 ส่วน นี้มาเย็บต่อกันก็จะได้ซิ่นตีนจก 1 ผืน ทั้งนี้เนื่องจากสตรี แม่แจ่มส่วนใหญ่ยังนิยมทอผ้าแบบโบราณกันอยู่ โดยใช้กี่พื้นเมือง ซึ่งมีขนาดเล็ก ส่วนตัวซิ่นจะเป็นส่วนที่กว้างที่สุดที่สามารถทอได้ แต่ปัจจุบันนี้มีการทอซิ่นตีนจกแบบเต็มผืนขึ้นบ้างแล้ว
ซิ่นตีนจกแม่แจ่มแบบโบราณ นิยมนุ่งซิ่นให้ยาวกรอมเท้าปิดตาตุ่ม ลักษณะของผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มประกอบด้วย

1. ส่วนเอวซิ่น คือส่วนบนสุดของซิ่น มีความกว้างประมาณ 1 คืบ ในส่วนนี้ยังแยกเป็นส่วนย่อยได้อีก 2 ส่วนคือ ส่วนบนสุดบ้างเรียก หัวซิ่น ใช้ผ้าฝ้ายสีขาว ซึ่งมีความนุ่มนวลและแน่นไม่หลุดง่ายเวลานุ่ง ส่วนถัดลงมาเป็นแถบเล็กสีแดงกว้างประมาณ 5-6 เซนติเมตร นิยมย้อมด้วยสีเปลือกมะนมวัว สมอ หรือมะเกลือ ซึ่งสีเปลือกไม้เหล่านี้มีส่วนช่วยในการดูดกลิ่นและรักษาผิวหนังที่อ่อนบางบริเวณเอวด้วย
2. ส่วนตัวซิ่น คือส่วนที่อยู่ตรงกลางระหว่างเอวซิ่นกับตีนซิ่น มีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งแบบเป็นลายริ้วขวางลำต้น มีสีต่างๆ เรียกซิ่นตา หรือซิ่นต๋า นิยมเรียกตามสีของซิ่น คือ ซิ่นตาเหลือง ซิ่นตาขาว ซิ่นตาแดงมุด หรือถ้ามีเทคนิคการปั่นไกเข้าประกอบใน ตัวซิ่น เรียกว่า ซิ่นแอ้ม (การปั่นไก คือวิธีการนำด้ายหรือเส้นฝ้าย 2 เส้น 2 สีมาปั่นหรือพันเกลียวเข้า ด้วยกัน) 
3. ส่วนตีนซิ่น คือส่วนที่อยู่ล่างสุดของซิ่น ทอด้วยฟืมหน้าแคบ มีความกว้างประมาณสองคืบและจกลวดลายลงบนผ้าพื้นด้วยปลายขนเม่น ปลายไม้หรือนิ้วมือ เพื่อสอดเส้นพุ่ง พิเศษที่เตรียมไว้ต่างหากด้วยสีสันต่างๆกันไป การจกจะทำด้านหลังของผืนผ้าเผื่อสะดวกในการต่อด้าย หรือยกด้ายข้ามกันไปมาได้สะดวก ลายก็จะไปปรากฏอยู่ด้านหน้าของผืนผ้า



Cradit
- http://www.qsds.go.th/silkcotton/k_21.php





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น