ผ้าซิ่นตีนจก มรดกแห่งชาติพันธุ์



อำเภอแม่แจ่มถือได้ว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีการทอผ้าซิ่นตีนจกกันมากที่สุด ผ้าทอของแม่แจ่มมีเอกลักษณ์ในการท่อหรือจกในลักษณะการคว่ำลาย ทำให้ลวดลายที่ได้สวยงาม ประณีตเฉพาะแบบไม่เหมือนใคร ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มยังถือเป็นศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นล้านนาที่สืบทอดเป็นมรดกทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การทอผ้าตีนจกถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นั่นอย่างชัดเจนที่สุด นับตั้งแต่ที่ผู้หญิงแม่แจ่มเริ่มเรียนรู้วิธีการทอผ้าในวัยสาว จนกระทั่งถึงวัยแก่ชีวิตของพวกเขาก็ยังมีการทอผ้าอยู่เสมอ ที่เห็นได้ชัดเมื่อเวลามีงานบุญสำคัญต่าง ๆ ชาวแม่แจ่มก็จะนำผ้าตีนจกที่ทอเก็บไว้ออกมานุ่งกัน ผ้าตีนจกถือได้ว่าเป็นของสำคัญที่ลูกสะใภ้นำไปไหว้แม่สามีตอนแต่งงาน นอกจากนั้นผ้าตีนจกยังเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของผู้หญิงชาวแม่แจ่มตั้งแต่เกิดจนตาย
ปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นสตรีชาวแม่แจ่มนิยมนุ่งซิ่นตีนจกในงานบุญประเพณีต่าง ๆ อยู่เสมอ กล่าวกันว่าสตรีชาวแม่แจ่ม จะต้องทอผ้าตีนจกอย่างน้อยคนละ 1 ผืนเป็นการคงเอกลักษณ์บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและเป็นการการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป ปัจจุบันผ้าตีนจกแม่แจ่มได้รับการประกาศจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ อันสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ 
การทอผ้าซิ่นตีนจกของชาวแม่แจ่ม ยังคงมีการสืบทอดกันมาจนถึงสมัยปัจจุบัน เราจะพบเห็นการทอผ้าตีนจกมากมายในหลายหมู่บ้าน ผ้าตีนจกโบราณที่ในอำเภอแม่แจ่มบางผืนมีอายุมากกว่า 100 ปีซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมทอด้วยไหม ปัจจุบันยังมีเหลือให้ชมและศึกษาอยู่ในเขตตำบลท่าผา ตำบลช่างเคิ่ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีการทอผ้าตีนจก 
การทอผ้าพื้นเมืองของแต่ละชุมชน แต่ละเผ่าพันธุ์ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผลพวงของการทอผ้าจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางการตลาด การตอบสนองทางเศรษฐกิจ รายได้และค่าตอบแทน แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่พวกเขาได้รับคือการร่วมสืบสานงานฝีมือทอผ้าพื้นบ้านของแม่แจ่มให้ดำรงคงอยู่ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา 


Cradit 
-http://thai.tourismthailand.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น